
ใครอยาก ปลูกกัญชา ต้องอ่าน คู่มือขออนุญาต ‘ปลูกกัญชา’ วิสาหกิจชุมชน - ละเอียดครบทุกขั้นตอน แบบถูกต้อง
กัญชา - กัญชง
ด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ได้เปิดให้สามารถนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยได้ ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐ สามารถยื่นขอรับอนุญาตปลูกกัญชาได้
ดังนั้น เพื่อให้นโยบายการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยเกิดประโยชน์สูงสุด โดยการส่งเสริมให้ภาคเกษตรกรรมได้มีส่วนร่วมในการปลูกกัญชาอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด และได้คุณภาพมาตรฐาน กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคู่มือการขอรับอนุญาตปลูกกัญชาสำหรับเกษตรกร เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของกลุ่มเกษตรกรในการเป็นผู้ขอรับอนุญาตปลูกกัญชา ดังนี้
คุณสมบัติของเกษตรกรที่จะขออนุญาต ปลูกกัญชา
เกษตรกรสามารถขออนุญาต ปลูกกัญชาได้ โดยการรวมกลุ่มกันจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์การเกษตร และขออนุญาตร่วมกับหน่วยงานของรัฐ
ขั้นตอนการขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน
เกษตรกรรวมกลุ่มกันขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อ ปลูกกัญชา ไม่ได้ เพราะกัญชา ยังจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ถ้าเช่นนั้นต้องทำอย่างไร กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. มีคำแนะนำ ดังนี้
1.เกษตรกรรวมตัวกันเพื่อจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในกิจการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อ ปลูกกัญชา โดยเฉพาะ
2.จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการในกิจการตามที่ยื่นขอ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ เพื่อรับใบรับรองการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน
3.วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนแล้วร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ( ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางเกษตรกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเภสัชกรรม หรือมีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด )
4.ยื่นขออนุญาตผลิต (ปลูก) ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา
5.เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว นำไปอนุญาตให้ผลิต ( ปลูก ) ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ยื่นขอเพิ่มกิจการวิสาหกิจชุมชน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ ที่วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียน
ไขข้อข้องใจ วิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาได้หรือไม่
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กำหนดให้กัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ปลูก และขายไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
สามารถปลูกกัญชาได้ในกรณีจำเป็น เพื่อประโยชน์ของทางราชการการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเกษตร พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย และต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

การจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาทำได้หรือไม่
กรมส่งเสริมการเกษตรรับจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน แต่ไม่ได้รับจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการปลูกกัญชาโดยเฉพาะ เนื่องจากขัดต่อประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2560
แต่ถ้าวิสาหกิจชุมชนต้องการปลูกกัญชาต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
1.ต้องมีสัญญากับหน่วยงานของรัฐหรือมีสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์ และหน่วยงานนั้นได้รับใบอนุญาตจาก อย.
2.นำสำเนาสัญญากับหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา ยื่นขอเพิ่มกิจการวิสาหกิจชุมชน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ ที่วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียน
กรมส่งเสริมการเกษตรรับจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน แต่ไม่ได้รับจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการปลูกกัญชาโดยเฉพาะ เนื่องจากขัดต่อประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2560
แต่ถ้าวิสาหกิจชุมชนต้องการปลูกกัญชาต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
1.ต้องมีสัญญากับหน่วยงานของรัฐหรือมีสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์ และหน่วยงานนั้นได้รับใบอนุญาตจาก อย.
2.นำสำเนาสัญญากับหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา ยื่นขอเพิ่มกิจการวิสาหกิจชุมชน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ ที่วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียน

ขั้นตอนการขออนุญาตปลูกกัญชา
1.ยื่นคำขอ พร้อมเอกสารหลักฐาน ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่สถานที่ปลูกตั้งอยู่
2.ตรวจประเมินสถานที่ขออนุญาตปลูกกัญชา
3.การประชุมของคณะกรรมการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย เพื่อให้ผู้ว่าฯพิจารณาให้ความเห็น (กรณีพื้นที่ปลูกตั้งอยู่ต่างจังหวัด)
4.เข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรอง
5.เข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
6.ออกใบอนุญาต

เอกสารประกอบการขออนุญาต มีอะไรบ้าง
– เอกสารของวิสาหกิจชุมชน
1.หนังสือจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน
2.สำเนาทะเบียนบ้านของวิสาหกิจชุมชน (กรณีสถานที่ปลูกตั้งอยู่ที่วิสาหกิจชุมชน) เอกสารอื่น ๆ
1.โครงการการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ ทางการแพทย์หรือเพื่อการศึกษาวิจัย
2.มาตรการรักษาความปลอดภัย
3.คำสั่งกำหนดรายชื่อ ผู้ที่สามารถเข้า-ออกในพื้นที่เพาะปลูกกัญชา พร้อมแนบหนังสือรับรองตนว่าไม่มีประวัติ หรือพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
4.แนวทางการปฏิบัติงาน (SOP) การขนส่ง การทำงาน
5.ผลการสอบประวัติการถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ดำเนินกิจการ ซึ่งตรวจสอบโดยศูนย์ตรวจสอบประวัติบุคคล กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แผนการปลูกกัญชา และการใช้ประโยชน์
การขออนุญาตปลูกกัญชา ผู้ขออนุญาตต้องมีความชัดเจนว่าจะปลูกจำนวนเท่าไหร่ ได้ผลผลิตเท่าไหร่ และจะนำผลผลิตดังกล่าวไปจำหน่ายให้กับใคร (ปริมาณการปลูกต้องสอดคล้องกับแผนการผลิต แผนการจำหน่าย และแผนการใช้ประโยชน์) โดยต้องกำหนดผู้รับซื้อที่แน่ชัด (มี contract farming)
การปลูกกัญชามี 3 รูปแบบ แต่ละรูปแบบมีข้อดีข้อเสีย ดังนี้
การปลูกกัญชากลางแจ้ง (outdoor cultivation)
- ข้อดี
– ต้นกัญชาสามารถได้รับแสงธรรมชาติได้เต็มที่
– ต้นทุนการดำเนินการต่ำ
– เหมาะกับกัญชาสายพันธุ์ไทย
- ข้อด้อย
– ไม่สามารถคุมศัตรูพืช แมลง หรือโรคพืชได้
– ไม่สามารถคุมแสง อุณหภูมิ
– การปลูกและเก็บเกี่ยวได้แค่ 1 ครั้งต่อปี
– ได้ผลผลิตน้อย ถ้าปลูกไม่ตรงตามฤดูกาล
การปลูกกัญชาในโรงเรือน (semioutdoor cultivation)
- ข้อดี
– ต้นกัญชาสามารถได้รับแสงธรรมชาติได้เต็มที่
– ต้นทุนการดำเนินการต่ำกว่าการปลูกในระบบปิด
– สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและศัตรูพืชได้บางส่วน
- ข้อด้อย
– สามารถควบคุมผลผลิตได้ แต่ต้องใช้เทคนิคต่าง ๆ และอาศัยความเชี่ยวชาญ
– การปลูกและเก็บเกี่ยวได้แค่ 2 ครั้งต่อปี
การปลูกกัญชาในระบบปิด (indoor cultivation)
- ข้อดี
– มีการควบคุมระยะเวลาในการให้แสง น้ำ สารอาหาร
– ได้ผลผลิต (ช่อดอก ใบ) ที่มีคุณภาพ ปริมาณสูง
– สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและศัตรูพืชได้
– วางแผนการปลูกและเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี
- ข้อด้อย
– ต้นทุนการดำเนินการสูง
– ผู้ปลูกต้องมีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการปลูก เช่น การควบคุมระบบแสง ไฟเทียม ระบบน้ำ ระบบอากาศ

ข้อกำหนดด้านสถานที่ปลูกต้นกัญชา แบ่งเป็น 4 หัวข้อ ดังนี้
1.ข้อกำหนดด้านสถานที่ เช่น สถานที่เพาะปลูกต้องมีที่อยู่ที่ตั้งชัดเจน โครงสร้างพื้นที่ต้องจัดทำแนวเขตชัดเจน ปิดกั้นทั้ง 4 ด้านของพื้นที่ปลูก สามารถป้องกันการเข้าถึงของบุคคลภายนอก จำกัดจำนวนประตูเข้า-ออกพื้นที่ และประตูควรทำจากวัสดุที่แข็งแรงทนทาน มีการจัดทำป้ายแสดงว่าเป็นสถานที่ผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหนังสือให้ความยินยอมจากผู้ให้เช่าหรือผู้ให้ใช้ที่ดิน (กรณีขอเช่าหรือขอใช้ที่ดินของบุคคลอื่น)
2.ข้อกำหนดด้านการรักษาความปลอดภัย เช่น ภายในพื้นที่ปลูก รวมทั้งบริเวณประตูทางเข้า-ออกมีระบบกล้องวงจรปิด โดยจัดให้มีการสำรองไฟล์ข้อมูลในอุปกรณ์รูปแบบอื่น ๆ ได้ไว้อย่างน้อย 6 เดือน มีระบบรักษาความปลอดภัยในการผ่านเข้า-ออกพื้นที่ เช่น กุญแจล็อกเปิด-ปิด เครื่องทาบบัตร เครื่องสแกนลายนิ้วมือ และกำหนดบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีสิทธิเข้า-ออกพื้นที่ รวมทั้งรายชื่อบุคคลที่รับผิดชอบ พร้อมช่องทางติดต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
3.ข้อกำหนดด้านการเก็บรักษา เช่น จัดเตรียมสถานที่ที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ผลผลิตที่ได้หลังจากการเก็บเกี่ยว และส่วนที่เหลือของกัญชาเพื่อรอการทำลาย โดยมีการแยกเก็บเป็นสัดส่วนไม่ปะปนกับวัสดุอื่น ๆ พร้อมทั้งกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบเฉพาะในการควบคุมสถานที่จัดเก็บ
4.ข้อกำหนดด้านการควบคุมการใช้ เช่น ดำเนินการปลูกกัญชาตามมาตรฐานการปลูก โดยมีรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติงาน (SOP) ในการควบคุมการปลูกและการเก็บเกี่ยว จัดให้มีการตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีการวิเคราะห์
ที่ได้มาตรฐานในทุกรอบการเพาะปลูกกัญชา มีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย และรายงานการดำเนินการตามแบบที่กฎหมายกำหนด รวมถึงมาตรการในการควบคุมการขนส่งและทำลายกัญชา
หน้าที่ของผู้รับอนุญาต ภายหลังได้รับอนุญาตปลูกกัญชาแล้ว มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้
– จัดให้มีการแยกเก็บกัญชาเป็นสัดส่วนจากยาหรือวัตถุอื่น เก็บในที่ซึ่งมั่นคงแข็งแรงและมีกุญแจใส่ไว้ หรือเครื่องป้องกันอย่างอื่นที่มีสภาพเท่าเทียมกัน
– ในกรณีที่กัญชาถูกโจรกรรม สูญหาย หรือถูกทำลาย ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อนุญาตทราบโดยไม่ชักช้า
– จัดให้มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายยาเสพติดให้โทษ และเสนอรายงานต่อเลขาธิการ อย.เป็นรายเดือนและรายปี บัญชีดังกล่าวให้เก็บรักษาไว้และพร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลาในขณะเปิดทำการ ทั้งนี้ ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ลงรายการครั้งสุดท้ายในบัญชี และรายงานให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
– ปฏิบัติการอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
- สายด่วน สอบถาม การขออนุญาติปลูกกัญชา อย. 1556 กด 3 ในวันเวลาราชการ
- สืบค้นข้อมูลปลูกกัญชาเพิ่มเติม กระทรวงสาธารณสุข
ขอบคุณ
- คอลัมน์นอกกรอบ
- กองควบคุมวัตถุเสพติด
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา